กิจกรรมประชุมหารือแนวทางการพัฒนานวัตกรรมชุดตรวจสารเสพติดในเส้นผม
เมื่อวันอังคารที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2568 เวลา 09.30 น. ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิจัย ประกอบด้วย ศ.พล.ต.ต.หญิง ดร.พัชรา สินลอยมา ผู้อำนวยการศูนย์กลางองค์ความรู้สากลด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในประเทศไทย ผศ.ดร.สมชาย เชื้อวัชรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ เครือข่ายศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านชุดตรวจวินิจฉัย เครือข่ายศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ได้ร่วมประชุมหารือแนวทางการพัฒนานวัตกรรมชุดตรวจสารเสพติดในเส้นผม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือในการดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ภายใต้การบูรณาการองค์ความรู้ เทคโนโลยี และแนวทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งขับเคลื่อนนวัตกรรมไปสู่ระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี (Technology Readiness Level: TRL) ในระดับ 9 ซึ่งเป็นความพร้อมทางเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในภาคสนาม ทั้งในด้านเทคนิคและการใช้งานที่สะดวก รวดเร็ว และเชื่อถือได้ โดยเฉพาะในการสืบสวนสอบสวน ตรวจค้นและจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด อันจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจและลดความเสี่ยงในการทำงานในพื้นที่เสี่ยงต่าง ๆ โดยการประชุมในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจากศูนย์ต่าง ๆ ประกอบด้วย
- ศูนย์กลางองค์ความรู้สากลด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในประเทศไทย
- ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์
- ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านชุดตรวจวินิจฉัย
- ศูนย์พัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยตามมาตรฐานสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านการวิเคราะห์สารปริมาณน้อยและไบโอเซนเซอร์ (Tab-Coe)
- ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
ผลการประชุมสามารถสรุปได้ดังนี้
ปัญหาและความสำคัญในการพัฒนาชุดตรวจสารเสพติดในเส้นผม พบว่า ปัจจุบันปัญหายาเสพติดยังคงเป็นปัญหาที่แพร่หลายและทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ รวมถึงผลกระทบในระดับนานาชาติ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่จำเป็นและเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว โดยเฉพาะกัญชา ที่ถูกกำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ให้ทุกส่วนของพืชกัญชา-กัญชง ไม่เป็นยาเสพติด ยกเว้นสารสกัดที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดร
แคนาบินอล (Tetrahydrocannabinol – THC) เกิน 0.2 % ที่ยังเป็นยาเสพติดให้โทษ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีชุดตรวจที่สามารถใช้ในการตรวจวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้องเพื่ออำนวยความสะดวกในการทดสอบภาคสนาม ทำให้เกิดความยากลำบากในการบังคับใช้กฎหมายและการจับกุม ดังนั้น การพัฒนาชุดตรวจ Test Kit หาปริมาณสาร THC ที่มีค่า Cutoff 0.2 นาโนกรัม/มิลลิกรัม ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจและท้าทาย เนื่องจากต้องอาศัยเทคโนโลยีการตรวจวิเคราะห์ที่มีความไวสูง และกระบวนการสกัดสารเสพติดจากเส้นผมที่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นก้าวสำคัญ ที่ต้องใช้ทั้งองค์ความรู้ด้านนิติวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีชีวภาพ และวิศวกรรมการแพทย์ เพื่อนำไปสู่นวัตกรรม
ที่สามารถนำมาใช้งานจริงในการช่วยสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย และลดปัญหายาเสพติดในสังคมอย่างเป็นระบบ
ปัจจุบันการตรวจสารเสพติดในเส้นผมดำเนินการโดยใช้เครื่องมือวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการLC-MS (Liquid Chromatography-Mass Spectrometry) ซึ่งสามารถตรวจวัดระดับปริมาณสารเสพติดในเส้นผมได้ในช่วง 0.05 – 1.25 นาโนกรัม/มิลลิลิตร หรือในกรณีของมิลลิกรัมเส้นผม จะอยู่ในช่วงระดับนาโนกรัม ถึง พิโคกรัม การพัฒนาชุดตรวจวิเคราะห์สารเสพติดจากเส้นผมจำเป็นต้องมีความไวสูงกว่าชุดตรวจปัสสาวะ เนื่องจากสารเสพติดที่ถูกกักเก็บอยู่ในเส้นผมจะสะสมอยู่ภายในแกนกลางของเส้นผม (Cortex) กระบวนการสกัด (Extraction) สารเสพติดในเส้นผม จำเป็นต้องใช้ตัวอย่างในปริมาณมาก ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มีความท้าทาย ดังนั้น การพัฒนาชุดตรวจสำหรับการใช้งาน Field Test จำเป็นต้องพิจารณาแนวทางการเตรียมตัวอย่าง (Sample Preparation) ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถสกัดสารเสพติดในระดับนาโนกรัมถึงพิโคกรัมออกมาในรูปของ Solution ที่พร้อมสำหรับการทดสอบด้วยชุดตรวจได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว การตรวจสารเสพติดในเส้นผมเป็นเทคนิคที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากสามารถตรวจสอบประวัติการใช้สารเสพติดย้อนหลังได้เป็นระยะเวลาประมาณ 90 วัน แตกต่างกับกรณีตรวจสารเสพติดในเลือดหรือปัสสาวะที่สามารถตรวจสอบได้ในระยะเวลาไม่นาน
อย่างไรก็ตาม วิธีการตรวจในปัจจุบันยังคงมีข้อจำกัด ทั้งในด้านต้นทุน ระยะเวลา และความสะดวกในการใช้งาน ดังนั้น การพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อปรับปรุงวิธีการตรวจสารเสพติดในเส้นผม จึงเป็นเรื่องที่ ท้าทายและเป็นสิ่งจำเป็น โดยแนวทางสำคัญดังนี้
1) การพัฒนาชุดตรวจ ATK ด้วยหลักการของภูมิคุ้มกันวิทยา (Immunoassay) เช่น ชุดตรวจCOVID-19 เป็นการตรวจหา Antigen โดยใช้ Antibody เข้าไปจับ เพื่อระบุการติดเชื้อ SARS-Cov-2 โดยตรวจจับโปรตีน Antigen ที่อยู่บนผิวของไวรัส ดังนั้น แนวทางการพัฒนาชุดตรวจสำหรับการตรวจสารเสพติด จะต้องมีหลักการที่ต้องพิจารณาถึง ดังนี้
(1) Antigenic Determinants ของยาเสพติดที่สำคัญ เช่น การเลือกส่วนประกอบของยาเสพติดที่สามารถกระตุ้นการสร้าง Antibody เพื่อใช้ในการตรวจจับสารเสพติดอย่างจำเพาะเจาะจง การเลือก Antigenic Determinants ที่เหมาะสมจะช่วยเพิ่มความไวและความจำเพาะของการตรวจวิเคราะห์ ทำให้สามารถตรวจจับสารเป้าหมายได้อย่างแม่นยำแม้มีปริมาณน้อยมากในตัวอย่างเส้นผม
(2) ต้องกำหนด ค่า Cutoff ที่สามารถตรวจจับสารเสพติดในระดับที่เหมาะสมกับการใช้งานโดยการตั้งค่า Cutoff ต้องคำนึงถึงความไว (Sensitivity) และความจำเพาะ (Specificity) เพื่อให้ได้ผลที่เชื่อถือได้
(3) จำนวน Sample Size เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีความแม่นยำและมีความน่าเชื่อถือ จำเป็นต้องพิจารณาจำนวนตัวอย่างที่เพียงพอต่อการทดสอบความไวและความจำเพาะของชุดตรวจ
(4) ความจำเพาะในสิ่งที่ต้องการตรวจหา โดยจะต้องกำหนด Target ที่ชัดเจนในการตรวจสอบสารเสพติด โดยต้องพิจารณาความจำเพาะ (Specificity) ในการตรวจสารเสพติดที่เฉพาะเจาะจง เช่น การเลือกตรวจสารเสพติดประเภทใด ใช้ในกลุ่มเป้าหมายใด เพื่อให้ผลการทดสอบที่ได้มีความแม่นยำและตอบโจทย์ที่ต้องการ
2) การประยุตก์ใช้นวัตกรรมระบบ E-Nose ที่สามารถตรวจวิเคราะห์สารเสพติดและให้ผลการตรวจสอบภายในเวลา 30 วินาที รองรับการคัดกรองกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง (Mass – Screening) ซึ่งเป็นเครื่องมือสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ให้สามารถตรวจสอบสารเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ สำหรับการพัฒนานวัตกรรมการตรวจสารเสพติดในเชิงการปฏิบัติงานสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย การใช้อุปกรณ์ที่มีขนาดพกพาและใช้งานได้ง่ายจะเป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่สะดวก รวดเร็ว และสามารถใช้งานได้ในสถานการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะเมื่อมีการขนย้ายหรือเคลื่อนย้ายสารเสพติดในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดในด้านเวลาและสถานที่หาก E-Nose ได้รับการพัฒนาให้มีขนาดเล็ก พกพาง่าย และมีความแม่นยำในการตรวจหาสารเสพติด สามารถเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับการตรวจสอบยาเสพติดในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถตรวจหาสารเสพติดได้อย่างรวดเร็วในสถานการณ์จริง
3) การพัฒนาชุดตรวจที่ใช้เทคโนโลยี Electrochemistry ซึ่งทำงานโดยการใช้ Probe Sensorที่สามารถจับสารเป้าหมายได้ โดยเมื่อสารเป้าหมายจับกับ Probe จะเกิดการปลดปล่อยพลังงานในรูปแบบสัญญาณไฟฟ้า สามารถนำไปใช้ในการวัดค่าในเชิง Quantitative Analysis หรือการวัดในลักษณะ Semi-Quantitative Analysis เทคโนโลยีนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการตรวจ THC ได้ โดยการพัฒนาให้สามารถวัดได้ที่ค่า Cutoff 0.2 โนกรัม/มิลลิกรัม ซึ่งเป็นค่าที่สำคัญสำหรับการตรวจสารเสพติดในระดับเบื้องต้น ทั้งนี้ จำเป็นต้องดำเนินการ Calibration อย่างแม่นยำ พร้อมทั้งใช้ Reference Material ในกระบวนการปรับเทียบ ค่ามาตรฐาน เพื่อให้มั่นใจว่าผลลัพธ์ที่ได้มีความถูกต้องและเชื่อถือได้ตามมาตรฐานที่กำหนด
การพัฒนาชุดตรวจสารเสพติดให้มีความแม่นยำ ใช้งานง่าย และให้ผลลัพธ์รวดเร็ว จะส่งผลดีต่อหลายภาคส่วน และยังสอดรับกับเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ (Objective and Key Results – OKR) ของการสร้างศูนย์กลางองค์ความรู้ (Hub of Knowledge) ตามยุทธศาสตร์ของแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566– 2570 รวมถึงการขับเคลื่อนนวัตกรรมไปสู่ระดับความพร้อมทางเทคโนโลยีหรือ Technology Readiness Level: TRL ในระดับ 9 ซึ่งเป็นระดับที่เทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์พร้อมใช้งานในภาคสนาม และเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความพร้อมและสามารถแข่งขันได้ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ โดยมีผู้ที่ได้รับประโยชน์หลัก ดังนี้
1) เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ได้นวัตกรรมการตรวจสารเสพติดสำหรับเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองและสอบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติด ลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ด้วยกระบวนการตรวจที่สะดวกและรวดเร็วขึ้น โดยมีนวัตกรรมการตรวจสารเสพติด ดังนี้
(1) นวัตกรรมชุดตรวจสารเสพติด สำหรับกัญชา ในรูปแบบ Test Kit ที่สามารถตรวจหาสาร THC ที่ค่า Cutoff 0.2 นาโนกรัม/มิลลิลิตร ซึ่งเป็นระดับที่ถูกกำหนดไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 โดยกำหนดให้สารสกัดที่มีปริมาณสาร Tetrahydrocannabinol (THC) เกิน 0.2 % ที่ยังเป็นยาเสพติดให้โทษ ปัจจุบันการควบคุมและตรวจสอบการใช้กัญชาที่มีปริมาณสาร THC เกินเกณฑ์ที่กำหนดยังคงเป็นปัญหาสำคัญ เนื่องจากไม่มีชุดตรวจที่สามารถใช้งานได้สะดวกและให้ผลลัพธ์
ที่แม่นยำในการทดสอบภาคสนาม โดยเฉพาะการตรวจสาร THC ที่มีค่า Cutoff 0.2 นาโนกรัม/มิลลิลิตร ดังนั้น การพัฒนาชุดตรวจสารเสพติด สำหรับกัญชา จึงเป็นนวัตกรรมที่ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถคัดกรองและตรวจสอบการใช้สารเสพติดได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ช่วยอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบภาคสนาม ลดความยุ่งยากในการจับกุมและดำเนินคดี อันเป็นการสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(2) นวัตกรรมชุดตรวจสารเสพติดในเส้นผม ในรูปแบบ Test Kit ที่สามารถตรวจสารเสพติดในเส้นผมย้อนหลังได้เป็นระยะเวลานาน ตั้งแต่ 3 เดือนจนถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับความยาวของเส้นผม ซึ่งปัจจุบัน ยังไม่มีชุดตรวจเพื่ออำนวยความสะดวกในการทดสอบภาคสนาม หรือการใช้งานนอกห้องปฏิบัติการ การตรวจวิเคราะห์ต้องอาศัยเครื่องมือทางห้องปฏิบัติการที่มี เช่น LC-MS ที่มีความซับซ้อน ต้นทุนสูง ใช้เวลานาน และ ไม่สามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบภาคสนามได้ ดังนั้น นวัตกรรมชุดตรวจสารเสพติดในเส้นผม (Test Kit) จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการตรวจคัดกรองสารเสพติดที่สะดวก ใช้งานได้ง่าย ลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก และให้ผลลัพธ์ที่รวดเร็ว ซึ่งช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่เพิ่มความคล่องตัวในการตรวจสอบภาคสนาม และตอบโจทย์การควบคุมและป้องกันปัญหายาเสพติดในสังคมได้
(3) นวัตกรรม Electronic Nose (E-Nose) หรือ จมูกอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการตรวจสารเสพติด E-Nose เป็นเทคโนโลยีที่สามารถตรวจวัดและวิเคราะห์กลิ่นได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะสารเสพติดต่าง ๆ เช่น กัญชา เมทแอมเฟตามีน เฮโรอีน โคเคน เป็นต้น เพื่อใช้ในการคัดกรองเบื้องต้น ก่อนการตรวจสอบด้วยเทคนิคที่ซับซ้อนและละเอียดมากขึ้น E-Nose ยังสามารถตรวจจับสารเสพติดในลมหายใจ เพื่อหาสารเสพติดที่อาจตกค้างอยู่ซึ่งสารเสพติดบางชนิด เช่น แอลกอฮอล์ เมทแอมเฟตามีน และโคเคน สามารถทิ้งสารระเหยไว้ในลมหายใจหลังการเสพ นอกจากนี้ E-Nose ยังสามารถวิเคราะห์กลิ่นจากเหงื่อ ปัสสาวะ หรือผิวหนังได้ เนื่องจากผู้เสพสารบางชนิดจะมีการเปลี่ยนแปลงในสารระเหยที่ออกมาทางผิวหนัง หรือของเสียที่ถูกขับออกจากร่างกายและสามารถ นำ E-Nose ไปติดตั้งในภาคสนาม หรือ จุดตรวจ เช่น สนามบิน ด่านตรวจ หรือสถานที่เสี่ยง เพื่อ คัดกรองกระเป๋าสัมภาระ หรือตัวบุคคลว่าอาจมีสารเสพติดโดยไม่ต้องเปิดดู ดังนั้น การใช้ E-Nose สำหรับการตรวจสารเสพติด จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญและมีความเหมาะสมต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ สะดวก รวดเร็ว และไม่ต้องใช้สารเคมีหรือขั้นตอนที่ซับซ้อน และไม่ทำให้ได้รับบาดเจ็บ (non-invasive) ทั้งนี้ ในหลายประเทศมีการนำ E-Nose มาใช้ในการตรวจจับและสกัดกั้นยาเสพติด เช่น ท่าเรือรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ท่าเรือแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยี่ยม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน อินเดีย เป็นต้น
3) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเป็นผู้พัฒนานวัตกรรมการตรวจสารเสพติด สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองและสอบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติดเป็นประเทศแรกในเอเชีย ซึ่งเป็นนวัตกรรมการตรวจวิเคราะห์สารเสพติดได้ในปริมาณน้อย มีความแม่นยำสูง และสามารถใช้ได้ภาคสนามได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง สนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการบังคับใช้กฎหมายและมีประโยชน์ต่อสาธารณชนอย่างชัดเจน รวมถึงการตอบโจทย์ Technology Readiness Level (TRL) ในระดับ 9 โดยการบูรณการจากศูนย์กลางองค์ความรู้สากลด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในประเทศไทย
และศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านชุดตรวจวินิจฉัย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในการขับเคลื่อนด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในประเทศอย่างยั่งยืน
4) ประชาชนและภาคสังคม สามารถใช้นวัตกรรมการตรวจสารเสพติดสำหรับตรวจคัดกรองสารเสพติดในครอบครัวและสถานศึกษา รวมถึงการตรวจสอบภายในสถานประกอบการที่มีความต้องการรักษามาตรฐานความปลอดภัยสูง เช่น โรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของสารเสพติดในสังคม เนื่องจากสามารถตรวจพบการใช้สารเสพติดได้ย้อนหลังและเป็นระยะเวลานานซึ่งช่วยสนับสนุนการป้องกันและควบคุมปัญหาสังคมที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการลดอุบัติเหตุที่เกิดจากผู้เสพสารเสพติดและการเกิดอาชญากรรมที่เกี่ยวข้อง
5) ภาครัฐและประเทศ สามารถลดงบประมาณในการดำเนินคดีและการฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดรวมถึงสนับสนุน ควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดอย่างมีระบบ นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมด้านการตรวจสารเสพติด และเพิ่มโอกาสในการสร้างนวัตกรรมที่มีศักยภาพในการแข่งขันทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ซึ่งจะเสริมสร้างความเป็นผู้นำทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับประเทศและเสริมสร้างความร่วมมือในระดับสากล
กิจกรรมประชุมหารือแนวทางการพัฒนานวัตกรรมชุดตรวจสารเสพติดในเส้นผม Read More »