รมว.ยุติธรรม เปิดงาน “ศูนย์กลางองค์ความรู้ต้นแบบด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด” พร้อมมอบนโยบายเร่งด่วน “แก้ไขยาเสพติดแบบไร้รอยต่อ”
รมว.ยุติธรรม เปิดงาน “ศูนย์กลางองค์ความรู้ต้นแบบด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด” พร้อมมอบนโยบายเร่งด่วน “แก้ไขยาเสพติดแบบไร้รอยต่อ” – 2 องค์กรความร่วมมือ “รร.นรต.-วช.” ยก “ศูนย์กลางองค์ความรู้ฯ” ป้องกัน – แก้ไขปัญหายาเสพติดแบบ Quick win โดยใช้แนวทาง 5 Big Rock
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ห้องประชุมเตมียาเวส โรงเรียนนายร้อยตำรวจ มีการจัดประชุม
ทางวิชาการเพื่อเผยแพร่และขยายผลการดำเนินงาน “ศูนย์กลางองค์ความรู้ต้นแบบด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งแบบออนไลน์และออนไซต์กว่า 300 คน ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงยุติธรรม สำนักงาน ป.ป.ส. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศาล อัยการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ ผู้สนใจทั่วไป เป็นต้น
พลตำรวจโท เสนิต สำราญสำรวจกิจ ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ กล่าวว่า โรงเรียนนายร้อยตำรวจ รู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีอย่างยิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้บริหารจากหน่วยงานต่างๆ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศไทยทุกคน และต้องขอขอบคุณสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่ให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการจัดตั้งศูนย์ PSDP-Hub เป็นศูนย์กลางด้านความรู้ หรือ Hub of Knowledge เกี่ยวกับกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กระบวนการสาธารณสุข และกระบวนการทางชุมชน ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยดำเนินการรวบรวมองค์ความรู้ด้านยาเสพติด จากฐานข้อมูลทางวิชาการ และประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินงานควบคู่ไปกับ ศูนย์ DLET-Hub ซึ่งเป็นศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ หรือ Hub of Talents ที่ได้รวบรวมบุคลากรศักยภาพสูงจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติด ในลักษณะของ “สมาคมแห่งเมธี” เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และส่งต่อไปยังผู้ใช้ประโยชน์กลุ่มต่างๆ ผ่านกิจกรรมการประชุมสัมมนา อบรม หรือเวทีทางวิชาการ โดยทั้ง 2 ศูนย์ฯ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 และสามารถใช้งานได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 เป็นต้นมา มีการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสาร และเป็นพื้นที่คลังปัญญาของบรรดาผู้เชี่ยวชาญ ด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวในการเป็นประธานในพิธีเปิดงานประชุมทางวิชาการเพื่อเผยแพร่และขยายผลการดำเนินงาน“ศูนย์กลางองค์ความรู้ต้นแบบด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด”และปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การบูรณาการความร่วมมือแบบไร้รอยต่อเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด” ว่า วันนี้ได้มาพูดในหัวข้อที่มีความท้าทายมากคือเรื่องยาเสพติด ด้วยบทบาทของกระทรวงยุติธรรม ในฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกฎหมายและหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม “ความยุติธรรม” จึงมีความสำคัญเพราะเป็นเป้าประสงค์หลักในการรวมตัวกันในสังคมเป็นประเทศชาติ ถ้าสังคมใดขาดซึ่งความยุติธรรมสังคมนั้นจะเกิดความอ่อนแอ ความแตกแยก ขาดความสามัคคี สุดท้ายไม่สามารถอยู่เป็นประเทศชาติได้ ผู้ปฏิบัติต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ความยุติธรรมต้องเข้าถึงประชาชน ประชาชนทุกคนจะต้องได้รับความยุติธรรม โดยการใช้ความยุติธรรมนำประเทศ
พันตำรวจเอก ทวี กล่าวต่อว่า ด้วยบทบาทกระทรวงยุติธรรมมี 2 เรื่องสำคัญ คือ 1.เรื่องการแก้ปัญหาอาชญากรรม ซึ่งเป็นภัยอันตรายต่อสังคมและต่อความเป็นอยู่ที่ดีมีสุขของประชาชน ทั้งนี้ ความหมายของผู้ก่ออาชญากรรมได้รวมถึงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ในวันนี้ เราจับยาเสพติดได้ในแต่ละปี 500 ล้านเม็ด เพิ่มเป็น 10 เท่า และทั้งหมดนี้ใช้ในประเทศ คนที่ถูกจับในเรือนจำจะเป็นเรื่องของยาเสพติด แสดงว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญา ในเรื่องยาเสพติดมีมากถึง 70-80 % และตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎในเรื่องการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. 2567 นั้น คนที่มียาเสพติดเล็กน้อยเป็นผู้เสพ ศาลจะตัดสินให้ไปบำบัดรักษา เมื่อไม่สมัครใจไปหาหมอ แต่ขอเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ประมาณ 85% สั่งให้คุมประพฤติและบำบัดรักษา ตามประมวลกฎหมายอาญา มีจำนวน 400,000 คน ถือว่าวิกฤติ เมื่อมาอยู่คุมประพฤติ 3 วัน ปล่อยกลับไปสู่บ้าน ชุมชน ทำให้ประชาชนมองกระบวนการยุติธรรมในเรื่องยาเสพติดว่าตำรวจอ่อนแอ จับแล้วปล่อย ส่วนศาลอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย จึงทำให้เกิดช่องว่างที่เป็นปัญหาวิฤติ ตรงนี้เป็นโจทย์ที่จะทำอย่างไรให้ไร้รอยต่อในเรื่องของการแก้ไขปัญหายาเสพติด
เรื่องที่ 2 การบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรม เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุมคณะกรรมการพัฒนากระบวนการยุติธรรม ก็ได้หยิบยกปัญหาดังกล่าวนี้มาประชุมร่วมกัน โดยคนที่อยู่ในคุมประพฤติ ก็อยากให้ศาลสั่งให้บำบัดรักษา จึงอยากจะบอกว่ากระทรวงยุติธรรมทำงานเต็มที่ แต่เรากลายเป็นเครื่องมือของกฎหมาย เราไม่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ เพื่อสร้างเป้าประสงค์สูงสุดให้ประชาชนได้อยู่ดีมีสุข ถือเป็นโจทย์ใหญ่ ก็อยากจะขอร้องให้ศาล ช่วยสั่งให้คุมประพฤติ ตามกฎหมายอาญามาตรา 56 อยากให้มีการบำบัดรักษา ทั้งนี้ ขอฝากโจทย์ใหญ่ที่ควรนำมาทำการวิจัยให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องดำเนินการ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.ให้ความสำคัญในการพัฒนากลไก เพื่อที่จะทำให้ประเทศไทยไปสู่ความเป็นศูนย์กลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ โดยนโยบายและแผนงานที่ วช. ให้ความสำคัญคือเรื่องกระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยศูนย์กลางองค์ความรู้ต้นแบบด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นการต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับสนับสนุนจาก วช. อย่างต่อเนื่องในประเด็นยุติธรรมท้าทายไทย 4.0 ในการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมที่เป็นผลผลิตจากโครงการวิจัยไปใช้ประโยชน์ ในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนให้กับสังคมและชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสามารถสร้างผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมในมิติของการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมได้อย่างตรงจุด ทั้งด้านการบังคับใช้กฎหมาย การประยุกต์ใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยี และการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของ ทุกภาคส่วนในสังคมและชุมชน
“ศูนย์กลางองค์ความรู้ต้นแบบด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นพื้นที่สำหรับการรวบรวมองค์ความรู้ในด้านกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม กระบวนการป้องกัน บำบัด และแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่สอดคล้องกับการเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษา สร้างอาชีพ และคืนคนดีสู่สังคม รวมทั้งสรรหาและรวบรวมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ หรือผู้ที่มีความคิดสร้างสรรให้เข้ามาร่วมคิด ร่วมวางแผน และร่วมดำเนินการ โดยเน้นการถ่ายทอดและสื่อสารองค์ความรู้ด้านต่างๆ ให้คนในชุมชนได้เข้าใจและสามารถปฏิบัติตามหรือนำไปประยุกต์ ใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ดร.วิภารัตน์ กล่าว
ด้านศาสตราจารย์ พลตำรวจตรีหญิง ดร.พัชรา สินลอยมา หัวหน้าศูนย์ PSDP-Hub กล่าวว่า ปัญหายาเสพติดในปัจจุบันที่เกิดขึ้นในระดับชุมชน สังคม และระดับชาติ จากข้อมูลของสถาบันธัญญารักษ์ปี 2563-2565 มีผู้ป่วยยาเสพติดมากกว่าร้อยละ 69 อยู่ในกลุ่มอายุระหว่าง 20-39 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่เป็นกำลังในการขับเคลื่อนประเทศ สอดรับกับข้อมูลการแพทย์ และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ระหว่างปี 2558-2564 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคทางจิตเวชเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จาก 1.3 ล้านคนเป็น 2.3 ล้านคน ซึ่งเกิดจากการใช้สารออกฤทธ์ต่อจิตประสาท เพิ่มขึ้นจาก 88,753 คน เป็น 436,012 คน โดยสถิติการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดลำดับสูงสุดคือ ยาบ้า 79.27 % รองลงมาคือ เฮโรอีน 5.52% ไอซ์ 5.33% ฝิ่น 5.01% และสถิติ 6 เดือนหลังปลดล็อกกัญชา พบบผู้้ป่วยติดกัญชาเพิ่มขึ้น 282 คนต่อเดือน และในปี 2566 ที่ผ่านมาผู้เสพติดกัญชา คิดเป็น 17% ของผู้ป่วยโรคทางจิตที่ต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด จากประเด็นปัญหายาเสพติด และจากการรวบรวมองค์ความรู้ จนเกิดเป็นการขยายผลการวิจัยในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในประเด็นยุติธรรมท้าทายไทย
“เราจะเป็นส่วนหนึ่งของความท้าทาย โดยได้กำหนดแนวทางในการสร้างองค์ความรู้และการกำหนด Big Rock ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพตดิดอย่างเร่งด่วน (Quick win) ประกอบด้วย 5 เป้าหมายหลัก ดังนี้ 1) การสร้างเครือข่ายพลังสังคมและพลังชุมชนเอาชนะยาเสพติด 2) การบำบัดฟื้นฟูและการติดตามช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน 3) การสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติดให้แก่เด็กและเยาวชน 4) การเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด 5) ความร่วมมือทางวิชาการ ทั้งในและต่างประเทศ โดยเป้าหมายของการดำเนินงานคือการถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างผู้เชี่ยวชาญรุ่นใหม่ ที่จะสามารถตอบคำถามหรือโจทย์ที่สังคมต้องการคำตอบเมื่อต้องเผชิญกับสภาวการณ์ด้านปัญหาการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดในมิติต่างๆ รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือหรือให้คำปรึกษาแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหายาเสพติด ทั้งในส่วนของการแจ้งเบาะแส การดำเนินคดี การบำบัดฟื้นฟู หรือการป้องกันตนเองและครอบครัวจากการถูกทำอันตรายของผู้เสพยาเสพติด ซึ่งผลจากการดำเนินโครงการครั้งนี้ได้เกิดศูนย์ต้นแบบ (Pilot Hub) ซึ่งจะนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์กลางด้านความรู้ (Hub of Knowledge) และศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of talents) ด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต อันจะก่อให้เกิดการร่วมมือแบบไร้รอยต่อของ
ทุกภาคส่วน มีการบูรณาการของมาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางสังคม และช่วยลดปัญหายาเสพติดลงได้อย่างเป็นรูปธรรม